ตามดูภาระกิจหมวดบรรทุกต่าง กองกำลังสุรสีห์ อีกหนึ่งสัตว์ต่างร่วมสนับสนุนภารกิจปกป้องอธิปไตยของประเทศ
กรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหาร ได้นำคณะสื่อมวลชนสายความมั่นคงเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของหน่วย ทหารในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี นำโดยพันเอก วิทัย ลายถมยา รองผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
ทั้งนี้ไปเยี่ยมชมภารกิจของหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ (ฉก.ทัพพระยาเสือ) กองกำลังสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9 โดยพันเอก สรายุทธ ศรลัมพ์ รองผบ.ฉก.ทัพพระยาเสือ และรอง ผบ.ร.29 ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวถึงภารกิจการปกป้องอธิปไตย บริเวณชายแดนด้านเขาตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จว.ราชบุรี
โดยเฉพาะภารกิจการส่งกำลังบำรุงไปยังฐานปฏิบัติการต่างๆในพื้นที่กันดารเดินทางค่อนข้างลำบากเนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขาลาดชัน ทางหน่วยจึงจำต้องร้องขอพาหนะที่สามารถบรรทุกเสบียงส่งไปยังฐานปฏิบัติการนั้นๆ
พันเอก สรายุทธ กล่าวว่า แน่นอนที่สุดพระเอกของหน่วยนั่นคือ "ล่อ"เป็นพาหนะที่บรรจุในหมวดบรรทุกต่าง กองกำลังสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9 โดยจัดกำลังพลและสัตว์ต่าง หรือ"ล่อ"เป็นพาหนะ จำนวน 2 หมวดบรรทุกต่าง 24 ตัวโดยขึ้นตรงยุทธการกับกองทัพบก
ขณะที่ ร้อยตรี พงศกร อุดมกิจ ผู้บังคับหมวดบรรทุกต่าง(ผบ.มว.บต.กกลสุรสีห์) เปิดเผยถึงภารกิจหมวดสัตว์ต่างว่า มีภารกิจขนสิ่งอุปกรณ์หรือเสบียงให้กับ กองร้อยทหารพราน1403 กรมทหารพรานที่ 14 ฐานปฏิบัติการพยัคฆ์ 1 บ้านโป่งแห้ง หมู่3 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ระยะทาง 11 ก.ม.ใช้เวลาเดินทาง 3 ชม.และฐานปฏิบัติการโป้งแห้ง 2 ระยะทาง 7 กม.ใช้เวลา 2 ช.ม. และสนับสนุนกองร้อยทหารพราน 1405 กรมทหารพรานที่14 ฐานปฏิบัติการบ้านหนองตาล่ำ หมู่ 6 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จำนวน 3 ฐานปฏิบัติการระยะทางไล่เรียงตั้งแต่ 17.5 กม.21-22 กม.ใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชม.
โดยภารกิจขนส่งอุปกรณ์ไปยังฐานปฏิบัติการสัปดาห์ละ 1 ครั้งทุกๆ วันเสาร์ หรือแล้วแต่หน่วยจะร้องขอ "เส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นสันเขาทางขึ้นชัน และลำธารน้ำทางราบ ซึ่งบางฐานรถสามารถส่งเสบียงได้จะมีอยู่ 5 ฐานที่รถไม่สามารถขึ้นถึง จำเป็นต้องใช้สัตว์ต่างหรือล่อ สนับสนุนการส่งกำลังเป็นหลัก"
ร้อยตรี พงศกร กล่าว จากนั้นหมวดพงศกร เล่าให้ฟังถึงที่มาของ"ล่อ"ว่า สายพันธุ์จริงๆมาจาก"พ่อลา"ผสมกับ"แม่ม้า"ซึ่งคุณลักษณะของม้ามีความเฉลียวฉลาด ส่วน"พ่อลา"มีคุณสมบัติพิเศษคือ อึดและอดทนสูง เมื่อผสมพันธุ์กันจึงออกมาเป็น"ล่อ"สองสายพันธุ์ที่แตกต่าง จึงมีคุณลักษณะพิเศษ ซึ่งมีทั้ง"ฉลาดและอดทน"ถือเป็นจุดเด่นของพาหนะประเภทเท้ากีบ แต่ที่สำคัญ"ล่อ"สามารถบรรทุกสิ่งอุปกรณ์ต่างๆในพื้นที่ภูมิประเทศตัวละ 60-80 กิโลกรัม ในพื้นที่ราบปกติบรรทุกได้ 80-100 กิโลกรัม เดินทางได้ระยะไกล และสามาถเดินบนเขาสูงชัน ทางราบได้ดีมีความอดทนมากกว่า ม้าและลา โดยปกติจะมีอายุใช้งานตั้งแต่ 4 ปีถึง16 ปี
โดยกองการเกษตรกรรมที่ 3 กองพันสัตว์ต่าง กรมการสัตว์ทหารบก ที่อ.แม่ริม จว.เชียงใหม่เป็นหน่วยผลิต"ล่อ"และส่งมาให้หน่วยต่างๆบรรจุใช้งานไม่ว่าจะเป็น กองกำลังนเรศวร กองกำลังผาเมือง และกองกำลังสุรสีห์
"ล่อ"เป็นสัตว์ที่เฉลียวฉลาด สามารถจำชื่อตัวเองได้ จากผู้จูงแม้จะดื้อบ้างในบางครั้ง ซึ่งโดยปกติ"ล่อ"แต่ละตัวจะมีชื่อเรียกตามพยัญชนะ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก อาทิ น้องกุ๊กกิ๊ก, น้องกาฟิว,น้องสมหญิง, น้องโจเซฟ และน้องเบลล์ ฯลฯ
ที่สำคัญ"ล่อ"แต่ละตัวกว่าจะนำมาใช้งานต้องผ่านการฝึกมากว่า 12 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการวางต่างบรรทุก การฝึกเดิน การฟังเสียงปะทัด เสียงปืนเสียงระเบิด แบะเดินขึ้นรถบรรทุกในการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยตั้งแต่ 4 ปีซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายกว่า"ล่อ"จะผ่านการทดสอบมาได้ และนี่คือ"น้องล่อ"หรือสัตว์ต่าง ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งต่อการร่วมสนับสนุนภารกิจปกป้องอธิปไตยของประเทศ ถึงแม้จะเป็นเพียงสัตว์ต่าง แต่ถือได้ว่ามี"คุณค่า"มีคุณประโยชน์มากมาย น่ายกย่องชื่นชมเลยมากทีเดียว
หมวด พงศกร กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝากถึง พี่น้องประชาชนที่อยู่แนวหลังว่า "ก็ขอให้ส่งกำลังใจให้ทหารที่อยู่แนวหน้า ที่รับผิดชอบตามแนวชายแดน เพื่อผืนแผ่นดินไทยที่รักของเรา ก็ขอให้ช่วยเป็นกำลังใจด้วย