นายแพทย์จักราวุธ จุฑาสงฆ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนจากผลกระทบฝุ่น PM 2.5 หลังสถานการณ์ค่าฝุ่นเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มี 24 จังหวัด ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สระแก้ว ขอนแก่น และ กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์จักราวุธ จุฑาสงฆ์ กล่าวต่อว่า PM 2.5 ฝุ่นเล็กจิ๋วแต่ส่งผลต่อสุขภาพมหาศาล ด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด บางอนุภาคยังอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย แน่นอนว่ามลพิษในอากาศส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ยิ่งเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด นอกจาก PM 2.5 จะเป็นอันตรายต่อปอดแล้วยังเป็นภัยร้ายกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ได้แก่ ภัยร้ายต่อหัวใจการสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเล็กจิ๋วติดต่อกันระยะหนึ่ง อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน ภัยร้ายต่อสมอง ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือด มีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้
นายแพทย์จักราวุธ จุฑาสงฆ์ กล่าวอีกว่า ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษที่ไม่ป้องกัน มีความเสี่ยงเกิดโรคมากน้อยขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย สำหรับเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดหรือโรคหัวใจ ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นเราจึงควรป้องกันตนเองจากละอองฝุ่น PM 2.5 ด้วยการติดตามสถานการณ์ละอองฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดนครสวรรค์ หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Asia Air Quality (Android), Global Air Quality (Android) และ Air Quality Index (iOS) หากมีค่าตั้งแต่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้สวมหน้ากากป้องกัน เช่น หน้ากาก N95 โดยต้องสวมอย่างถูกต้องตามวิธี หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน พยายามอยู่บ้านหรือภายในอาคารที่ปิดมิดชิด อาจใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านแม้อุณภูมิภายนอกไม่สูง หรือปิดหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงที่มีมลพิษสูง บางกรณีอาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยกรองอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก งดสูบบุหรี่และกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน การสูบบุหรี่หรือสูดกลิ่นควันอาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจและปอดอ่อนแอ เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นพิษในอากาศยิ่งส่งผลให้สุขภาพแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงเกิดหอบหืดและมะเร็งปอด สังเกตตัวเองโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หากพบอาการ เช่น หายใจลำบาก หน้ามืด อ่อนแรง หรือไอติดต่อกันรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที